หลักการและเหตุผล

               มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงทางด้านการเกษตรและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ได้ขยายวิทยาเขตมายังจังหวัดแพร่เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับชุมชนแถบล้านนาตะวันออกมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี จึงตระหนักในบทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งคือการอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วม ในขณะเดียวกันเพื่อเป็นฐานการเรียนรู้ตามธรรมชาติ การทดลองและวิจัยแก่นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย และคนในชุมชนที่มีความสนใจ
               

ผักหวานป่า (Melientha suavis Pierre) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง อยู่ในวงศ์ OPILIACEAE เป็นพืชสมุนไพรและผักพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงมาก มีอายุยืนยาวนานเป็นร้อย ๆ ปี ใช้ประโยชน์ได้ทั้งใบอ่อน ยอดอ่อน และช่อผล ผักหวานป่า เป็นพืชที่นำมาบริโภคกันเป็นเวลานานมาแล้ว เพราะผักหวานป่ามีรสชาติที่อร่อยและอุดมด้วยคุณค่าทางอาหารที่เป็นประโยชน์ อาทิ สารเบต้า-แคโรทีนอย วิตามินซี และวิตามิน บี 2 เป็นต้น (ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ. 2548) อีกทั้งสามารถใช้ส่วนต่าง ๆ มาทำยาได้ เช่น ราก ใช้เป็นยาเย็น แก้ร้อนในกระหายน้ำ ใบ และราก ใช้รักษาแผล แก้ปวดท้อง เป็นต้น (ณัฏฐากร และบัณฑิต, 2552)

ผักหวานป่าจัดเป็นพืชผักชนิดหนึ่งที่มีผู้บริโภคนิยมบริโภคกันมาก ความต้องการทางการตลาดสูง ปริมาณผลผลิตผักหวานป่าในธรรมชาติจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงทำให้เกิดการเก็บเกี่ยวใบผักหวานแบบตัดกิ่ง โค่นต้นเพื่อเก็บใบอ่อนให้ทันต่อผู้บริโภค จึงมีแนวโน้มว่าพืชผักชนิดนี้จะหาบริโภคได้ยาก และมีราคาแพงขึ้น ทั้งยังทำให้ต้นผักหวานป่ามีโอกาสสูญพันธุ์ได้ง่ายมากขึ้นด้วยซึ่งวิธีการขยายพันธุ์ผักหวานป่าที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบันคือการเพาะเมล็ด เพราะสามารถขยายพันธุ์ได้ในปริมาณมากและได้ผลผลิตดีกว่าวิธีการอื่น ๆ อย่างไรก็ตามการขยายพันธุ์ผักหวานป่าด้วยเมล็ดมีข้อจำกัดที่ต้องใช้เมล็ดพันธุ์จากผลผักหวานป่าที่สุกและใหม่เท่านั้น โดยการเก็บเมล็ดพันธุ์มาปลูกจะเก็บได้เฉพาะในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เมื่อเก็บเมล็ดมาแล้วต้องทำการเพาะภายใน 7วัน เท่านั้น (วุฒิรัตน์ พัฒนิบูลย์ และสมเพชร วงเรียน. 2555) เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาไว้นานจะมีเปอร์เซ็นต์การงอกลดลงเร็วมาก ส่งผลให้ช่วงระยะเวลาการขยายพันธุ์ผักหวานป่าด้วยเมล็ดค่อนข้างสั้น อีกทั้งชาวบ้านยังขาดความรู้ในเรื่องการเพาะขยายพันธุ์ผักหวานป่า ทำให้เพาะเมล็ดไม่งอก และสอบถามถึงองค์ความรู้ดังกล่าว ตลอดจนถึงเก็บเมล็ดผักหวานป่ามาให้ช่วยเพาะเมล็ดให้รวมทั้งจากการเก็บข้อมูลการกระจายพันธุ์ของผักหวานป่าในปี 2557 ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ พบว่า ผักหวานป่าปรากฏในพื้นที่เฉลี่ยเพียง 2 ต้นต่อไร่ ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการของชุมชน จากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการของคนในชุมชนใกล้เคียงพื้นที่อนุรักษ์ของมหาวิทยาลัยฯ เช่นชุมชนบ้านแม่ทราย บ้านบุญแจ่ม บ้านน้ำพุน้อย ทุกชุมชนมีความต้องการอยากจะปลูกผักหวานป่าเพื่อเป็นแหล่งอาหาร แต่พบปัญหาว่าผักหวานป่าที่ปลูกเมล็ดมีอัตราการงอกต่ำมาก และผักหวานป่าที่ปลูกจากต้นกล้ามีอัตราการรอดตายที่ต่ำมาก เนื่องจากขาดองค์ความรู้ นักวิจัยได้ทำการศึกษาเบื้องต้นถึงวิธีการยืดอายุการเก็บรักษาเมล็ดผักหวานป่าโดยการทดลองใช้บรรจุภัณฑ์และใช้อุณหภูมิที่แตกต่างกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อหาวิธีการในการยืดอายุการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ผักหวานป่าให้นานขึ้น และมีอัตราการงอกค่อนข้างสูง สามารถเจริญเติบโตได้ดีเช่นเดียวกับเมล็ดสดที่ไม่ผ่านการเก็บรักษา เพื่อให้สามารถปลูกขยายพันธุ์ผักหวานป่าได้ในช่วงระยะเวลาที่นานขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตผักหวานป่าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในอนาคต ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นสามารถเก็บเมล็ดผักหวานได้นาน ประมาณ 60 วัน มีอัตราการงอกที่ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนักวิจัยคิดว่ายังมีประเด็นที่น่าศึกษาเพิ่มเติม เพื่อหาวิธียืดอายุการเก็บให้ได้นานขึ้น มีอัตราการงอกที่สูงขึ้น และอัตราการรอดตายที่สูงขึ้น ตลอดจนมีการเจริญของต้นกล้าที่ดี เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ถ่ายทอดสู่ชุมชนที่มีความสนใจต่อไป

วัตถุประสงค์


- เพื่อสนองพระราชดำริภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- เพื่อศึกษาวิธีการยืดอายุการเก็บเมล็ดผักหวานป่าให้นานขึ้น
- เพื่อถ่ายทอดงานวิชาการด้านอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและวิชาการที่เกี่ยวข้องสู่สังคม
ติดต่อเรา